สวัสดีครับชาวเพจPNSทุกท่าน วันนี้ทางเพจมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลและการเลือกเครื่องสูบน้ำในอุตสาหกรรม [Water Pumping Industries] มาฝากครับ
เครื่องสูบน้ำหรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆว่าปั๊ม (Pump) เป็นอุปกรณ์ทางกลที่ทำการขนส่งของเหลวที่อยู่ภายในท่อหรือถังเก็บ ให้เคลื่อนที่ไปยังจุดที่ต้องการ โดยการเปลี่ยนรูปพลังงานจากพลังงานไฟฟ้าเพื่อขับมอเตอร์ให้เป็นพลังงานกล ดังนั้นสภาพของมอเตอร์มีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพของเครื่องสูบน้ำ การตรวจสอบสภาพการใช้งานและบำรุงรักษามอเตอร์เป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยยืดอายุการใช้งาน และรักษาระดับประสิทธิภาพของมอเตอร์ให้คงที่ตลอดอายุการใช้งาน แนวทางในการดูแลตรวจสภาพมอเตอร์ของเครื่องสูบน้ำสามารถทำได้ดังนี้
1. ตรวจสอบประจำวัน/สัปดาห์
• ตรวจสอบ ฟังเสียง ความผิดปกติของมอเตอร์และเครื่องสูบน้ำ
• จดบันทึกค่าแรงดันไฟฟ้า ค่ากระแสไฟฟ้า และค่ากำลังไฟฟ้า
• จดบันทึกค่าแรงดันน้ำ ทั้งด้านดูดและด้านจ่าย
2. ตรวจสอบประจำทุก 3 เดือน
• ตรวจสอบ และปรับแต่งน้ำเลี้ยงคอเพลา
• ตรวจสอบความร้อนของมอเตอร์และเครื่องสูบน้ำ
• ตรวจสอบ และทำความสะอาดสเตรนเนอร์ (Strainer)
• ตรวจสอบสภาพยางที่จุดต่อ/ข้อต่อ
3. ตรวจสอบประจำทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี
• ตรวจสอบ และขันจุดต่อต่างๆของระบบไฟฟ้า
• ตรวจสอบสายไฟควบคุมและสายกราวด์
• ตรวจสอบแบริ่งของชุดมอเตอร์และเครื่องสูบน้ำ
• ตรวจสอบระบบหล่อลื่น
• ตรวจสอบสภาพสปริง
• ตรวจสอบ และขันสกรูยึดชิ้นส่วนต่างๆให้แน่น
• ตรวจสอบ และปรับตั้ง (ถ้าจำเป็น) แนวศุนย์เพลา
ส่วนแนวทางทั่วไปในการเลือกขนาดของเครื่องสูบน้ำนั้น จำเป็นที่จะต้องทราบข้อมูลที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. อัตราการไหลต่ำสุดของเครื่องสูบน้ำขณะทำงานมีค่าเท่าไร
2. 80% ของเวลาที่เครื่องสูบน้ำถูกใช้งานมีค่าอัตราการไหลเท่าไร
3. อัตราการไหลที่สูงที่สุดของปั๊มขณะปฏิบัติงานมีค่าเท่าไร
โดยการเลือกขนาดของเครื่องสูบน้ำที่เหมาะสมจะดูจากค่าประสิทธิภาพของปั๊มให้ใกล้เคียงกับจุดประสิทธิภาพสูงสุด (Best efficiency point, BEP) ที่ค่าอัตราการไหลส่วนใหญ่ในขณะที่ปั๊มทำงาน ในปัจจุบันการเลือกขนาดของเครื่องสูบน้ำนิยมหาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถตรวจสอบความพร้อมของระบบและอุปกรณ์เครื่องจักร รวมถึงระบบหล่อลื่น และป้องกันการรั่วไหลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นหากเรามีการดูแลที่ดี บำรุงรักษาตามรอบ และเลือกขนาดเครื่องสูบน้ำให้เหมาะสมจะทำให้เครื่องสูบน้ำทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดพลังงาน และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมนั้นๆได้อีกด้วย
หากเพื่อนๆชอบบทความนี้ รบกวนกดไลค์กดแชร์เป็นกำลังใจให้ทางเพจด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก รศ.ดร.เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย