กรรมวิธีทางความร้อนหลังการเชื่อม
(Post weld heat treatment, PWHT)
สวัสดีทุกท่านครับ วันนี้ PNS มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องกรรมวิธีทางวิศวกรรมมาฝากครับ ซึ่งก็คือ “กรรมวิธีทางความร้อนหลังการเชื่อม หรือ Post weld heat treatment (PWHT)” นั่นเองครับ จะเป็นยังไง ไปอ่านกันเลยครับ
กรรมวิธีทางความร้อนหลังการเชื่อม หรือ Post weld heat treatment (PWHT) เป็นการให้ความร้อนกับชิ้นงานที่ผ่านการเชื่อมตรงบริเวณรอยแนวเชื่อม เพื่อที่จะลดความเค้นตกค้าง (Residual stress) ลดความแข็ง(Hardness) ของบริเวณที่ได้รับผลทางความร้อน(Heat-affected zone, HAZ) และกำจัดแก๊สไฮโดรเจนที่ละลายอยู่ในเนื้อโลหะ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล็กกล้าคาร์บอนและเหล็กกล้าผสมต่ำ) ซึ่งจะทำให้ความเหนียว(Ductility) และความแกร่ง(Toughness) ของโลหะเพิ่มขึ้น
ในกรณีของเหล็กกล้าไร้สนิมออสเทเนติก (Austenitic stainless steel) ที่ต้องใช้งานในสภาพแวดล้อมที่รุนแรง การทำ PWHT มีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อละลายอนุภาคโครเมียมคาร์ไบด์ (Chromium carbide) ผ่านการให้ความร้อนในขั้นตอนการทำละลายของแข็ง (Solid solution heat treatment)
ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำ PWHT ได้แก่ อัตราการให้ความร้อนและลดความร้อน อุณหภูมิและระยะเวลาในอบชิ้นงาน ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิของรอยแนวเชื่อมและความร้อนที่กำหนดไว้ในการทำ PWHT สำหรับรายละเอียดข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับวิธีการที่จะใช้ในการทำ PWHT สามารถดูได้จาก Welding Procedure Specification (WPS) ที่จะนำมาใช้กับงานเชื่อมนั้นๆ ครับ
ติดตามเกร็ดความรู้ใหม่ๆ จาก PNS เกี่ยวกับความรู้ทางวิศวกรรม ได้ที่เพจเลยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก รศ.ดร.เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย