Pipe rack

สวัสดีครับทุกท่าน วันนี้ PNS มีเคล็ดลับดีๆ สำหรับ “การออกแบบโครงสร้างจัดเก็บท่อ (Pipe rack)” มาฝากทุกท่านครับ เพราะการทำงานจะเกิดประสิทธิภาพได้นั้น โครงสร้างก็ถือเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน

โครงสร้างจัดเก็บท่อ (Pipe rack) คือโครงสร้างที่มีกลุ่มท่อวางอยู่ โดยท่อนั้นจะขนส่งของไหล (ของเหลว หรือแก๊ส) จากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่ง เช่น จากโรงงานหนึ่งไปอีกโรงงานหนึ่ง จากอาคารหนึ่งไปอีกอาคารหนึ่ง หรือจากอุปกรณ์หนึ่งไปอีกอุปกรณ์หนึ่ง เป็นต้น
โครงสร้างจัดเก็บท่อจะมีลักษณะคล้ายสะพาน อาจมีชั้นเดียวหรือหลายชั้นก็ได้ โดยปกติจะวางกลุ่มท่อจำนวนมากบนโครงสร้างจัดเก็บท่อ โดยนิยมวางกลุ่มท่อแบบเดียวกันไว้ด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มท่อกระบวนการผลิต (Process lines) กลุ่มท่อสาธารณูปโภค (Utility lines) และกลุ่มท่อสายไฟ (Cable lines) โดยควรวางกลุ่มท่อที่หนักไว้บนเสาหรืออยู่ใกล้เสาให้มากที่สุด และกลุ่มท่อที่เบาก็ให้ไว้ที่ตำแหน่งตรงกลางของคาน
ถ้าโครงสร้างจัดเก็บท่อมีหลายชั้น ควรวางกลุ่มท่อกระบวนการผลิตไว้ที่ชั้นล่าง แต่ถ้าเป็นกลุ่มท่อกระบวนการผลิตที่ร้อน ควรวางไว้ที่ชั้นบน และท่อร้อนที่มีขนาดใหญ่สุดหรือร้อนที่สุดก็ควรวางไว้อยู่ด้านนอกสุด สำหรับกลุ่มท่อสาธารณูปโภคและกลุ่มท่อสายไฟควรวางไว้ชั้นบน
ในการออกแบบโครงสร้างจัดเก็บท่อ (Pipe rack) จะต้องคำนึงถึงสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ได้แก่
• การหาระยะความกว้าง (Width) และระยะยก (Elevation)ของโครงสร้างจัดเก็บท่อ
• การวางแนวท่อ (Layout) บนโครงสร้างจัดเก็บท่อ
• แรงกระทำต่าง ๆ ทั้งหมดบนโครงสร้างจัดเก็บท่อ
• ทางเดิน บันได และแท่นยืน (Platform) บนโครงสร้างจัดเก็บท่อ
• พื้นที่ว่างสำหรับวางท่อในอนาคต
• เครื่องมือวัดที่ติดตั้งบนท่อ
• การจัดรางเดินสายไฟ (Cable tray).
• ระยะห่างระหว่างเสาของโครงสร้างจัดเก็บท่อ
• ส่วนรองรับท่อ (Pipe support) บนโครงสร้างจัดเก็บท่อ
• วงรอบการขยายตัว (Expansion loop) บนโครงสร้างจัดเก็บท่อ
หากทุกท่านศึกษาและวางแผนการออกแบบโครงสร้างจัดเก็บท่อ ตามที่ PNS ลิสท์มาให้ทั้งหมดละก็ รับรองว่าผลลัพธ์และการดำเนินงานจะออกมาดีอย่างแน่นอนครับ

ขอบคุณข้อมูลดีๆ
จาก รศ.ดร.เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย