สวัสดีครับทุกท่าน ว่าด้วยเรื่องของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับท่อก็มีหลายเรื่องด้วยกัน แต่อีกหนึ่งปัญหาที่ช่างท่อมักประสบพบเจออยู่บ่อยครั้ง นั่นก็คือปัญหา “การกัดกร่อนภายใต้ฉนวน” นั่นเอง รายละเอียดจะเป็นยังไงนั้น วันนี้ PNS จะพาทุกท่านมารู้จักกัน
การกัดกร่อนภายใต้ฉนวน (Corrosion under insulation) หรือมักเรียกสั้นๆ ว่า CUI คือการกัดกร่อนที่เกิดขึ้นกับท่อ และส่วนประกอบอื่นๆ ของระบบท่อ รวมถึงเครื่องจักร อุปกรณ์ที่มีการหุ้มฉนวนอีกด้วย ซึ่งเป็นการกัดกร่อนที่สร้างความเสียหายอย่างมากกับระบบท่อในโรงงาน เนื่องจากการตรวจเจอความเสียหายประเภทนี้นั้น มักจะพบก็ตอนที่เกิดการกัดกร่อนขั้นรุนแรงแล้ว ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมากในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่
สาเหตุที่พบการกัดกร่อนภายใต้ฉนวนได้ยากนั้น ก็เนื่องจากเราไม่สามารถมองเห็นความเสียหายของท่อที่อยู่ด้านในฉนวนได้ จนกว่าจะมีการเปิดฉนวนที่หุ้มท่อออกมาดูซึ่งจะพบการกัดกร่อนประเภทนี้จำนวนมากในโรงงานอุตสาหกรรมปิโตรเลียม โรงไฟฟ้า และโรงงานเคมี รวมถึงท่อที่ทำจากเหล็กกล้าคาร์บอนและเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดซีรีย์ 300 อีกด้วย
โดยจะพบลักษณะการกัดกร่อนแบบทั่วไป (General corrosion) หรือแบบเฉพาะพื้นที่ (Localized corrosion) ในเหล็กกล้าคาร์บอน แต่ถ้าเป็นเหล็กกล้าไร้สนิม จะพบลักษณะการกัดกร่อนแบบหลุม (Pitting corrosion) และแบบการกัดกร่อนร่วมกับความเค้น (Stress-corrosion cracking)
การกัดกร่อนภายใต้ฉนวนสาเหตุเกิดจากการที่มีน้ำซึมเข้าไปในเนื้อฉนวน ทำให้ฉนวนเกิดการอุ้มน้ำไว้เสมือนเป็นฟองน้ำและสัมผัสกับผิวท่อตลอดเวลา จึงทำให้เกิดการกัดกร่อนขึ้น โดยอุณหภูมิที่มักเกิดการกัดกร่อนประเภทนี้กับท่อเหล็กกล้า จะอยู่ที่ 0 – 149°C และจะเกิดการกัดกร่อนที่รุนแรงที่สุดที่อุณหภูมิ 93°C.นั่นเอง
เห็นไหมครับว่าการกัดกร่อนภายใต้ฉนวนนั้น นอกจากจะสังเกตยากแล้ว ยังสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมากอีกด้วย ดังนั้น เราต้องมีการหมั่นตรวจสอบ และศึกษา วางแผนให้อย่างถี่ถ้วนเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัวนะครับ
อย่าลืมกดไลก์ กดติดตามเพจ PNS Material and Engineering กันด้วยนะครับ
ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก รศ.ดร.เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย