การลดเสียงรบกวนในระบบท่อ

สวัสดีเพื่อนๆชาวเพจPNS วันนี้มีสาระเกี่ยวกับการลดเสียงรบกวนในระบบท่อมาฝากกันครับ ไปดูกันว่าเสียงดังเสียงรบกวนในระบบท่อเกิดจากอะไร และการแก้ไขให้เสียงเหล่านั้นเงียบลงจะทำกันอย่างไร

เสียงรบกวนที่เกิดขึ้นในระบบท่อเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น เกิดจากการเปลี่ยนทิศการไหลหรือเปลี่ยนรูปแบบการไหลของของไหลในท่อ การไหลผ่านวาล์ว ปั๊ม หรือคอมเพรสเซอร์ การเกิด Water hammer หรือการเกิด Cavitation เป็นต้น ถ้าเสียงรบกวนที่เกิดขึ้นมีขนาดความดังมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดความเดือดร้อนรบกวนผู้อยู่บริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบท่อในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งมักมีขนาดใหญ่ มีอัตราการไหลสูง ความดันสูง ก็จะยิ่งสร้างระดับเสียงที่ดังมาก ยิ่งทำให้เป็นอันตรายต่อระบบประสาทหูของคนเรา ดังนั้นการลดหรือกำจัดเสียงรบกวนในระบบท่อจึงเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1. การใช้ข้อต่อยืดหยุ่น (Flexible joint)
2. การปรับระดับการควบคุมวาล์วให้มีการไหลที่ช้าลงเมื่อเปิด/ปิดวาล์ว อย่างรวดเร็ว
3. การติดต้้งท่อดูดซับเสียง
4. การใช้ส่วนรับท่อ (Pipe support) แบบยืดหยุ่น
5. การใช้ปลอกหุ้มท่อ
สาเหตุหลักที่มักจะเกิดเสียงดังรบกวนในระบบท่ออุสาหกรรมส่วนมากมักเกิดจาก ค้อนน้ำ (Water hammer) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ของไหลที่ไหลอยู่ในระบบท่อเกิดการไหลกระแทกกับผนังท่อ/อุปกรณ์ ทำให้เกิดเสียงดังที่มีลักษณะเหมือนกับการที่ใครสักคนเอาค้อนไปเคาะผนังท่อเป็นจังหวะๆ ค้อนน้ำไม่ใช่เกิดกับของไหลประเภทน้ำเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเกิดกับของไหลได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นของเหลว แก๊ส หรือระบบผสมสองสถานะ (ของเหลว + แก๊ส) แต่เนื่องจากของไหลส่วนใหญ่ที่ใช้ก็คือน้ำ จึงนิยมเรียกกันว่าค้อนน้ำ อย่างไรก็ตาม การเกิดค้อนน้ำไม่จำเป็นต้องมีเสียงดังควบคู่เสมอไป ในบางกรณี เช่น การเกิดค้อนน้ำเนื่องจากความดันลด จะไม่ได้ยินเสียงค้อนน้ำเลย การเกิดค้อนน้ำในระบบท่อเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด เพราะการเกิดค้อนน้ำจะทำให้มีแรงมหาศาลเข้ากระแทกกับผนังท่อ/อุปกรณ์ในระบบท่อ ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดค้อนน้ำ ได้แก่ การกระแทกของของไหล การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และการที่ของไหลมีความเร็วแตกต่างกัน
จบลงไปแล้วนะครับ สำหรับสาเหตุการเกิดเสียงดังในระบบท่อ และวิธีการกำจัดเสียงรบกวน หากชอบบทความนี้รบกวนกดไลค์กดแชร์เป็นกำลังใจให้ทางเพจด้วยนะครับ

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก รศ.ดร.เสกศักดิ์ อัสวะวิสิทธิ์ชัย